การจะยกระดับประเทศให้ก้าวไปสู่การแข่งขันในเวทีโลกได้นั้น อาจมีหลายปัจจัยที่ต้องเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตามหากจะพูดกันถึงแนวทางที่สามารถทำให้ยืนหยัดได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งถูกพิสูจน์โดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมาก่อนหน้านี้ ก็เห็นจะเป็นการให้ความสำคัญกับความรู้ความสามารถทาง “วิทยาศาสตร์” และ “เทคโนโลยี” มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนสถานะของเราจากประเทศผู้ซื้อนวัตกรรม ให้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตนวัตกรรม ปรับดุลความโดดเด่นเชิงนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งการจะไปถึงจุดดังกล่าว กลยุทธ์ไทยแลนด์ 4.0 จึงถูกผลักดันอย่างเข้มข้นจากทุกภาคส่วน ในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแค่นั้น เพื่อรองรับบุคลากรสายวิทย์และผู้ที่สนใจในเทคโนโลยี ทางภาคเอกชนเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ดังที่จะเห็นนโยบายจากองค์กรชั้นนำจำนวนไม่น้อยซึ่งเข้าไปสนับสนุนผู้ผลิตนวัตกรรมชาวไทยในหลากหลายรูปแบบ ทั้งส่วนของทุนการศึกษา การจัดประกวดแข่งขัน การรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรเพื่อช่วยพัฒนาความสามารถอย่างใกล้ชิด
และที่น่าจับตาเป็นพิเศษ ก็คือความทุ่มเทในระดับที่ไม่ธรรมดาของ กลุ่ม ปตท. และพันธมิตร ซึ่งร่วมมือกันจัดตั้งและสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่เน้นการเรียนการสอนและการวิจัยผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะขึ้นในชื่อ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยมีเป้าหมายสุดท้าทายคือการก้าวขึ้นไปติด 1 ใน 50 มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลกให้ได้ภายใน 20 ปี นับจากเปิดดำเนินการ เมื่อปี พ.ศ. 2558 และในปัจจุบันได้กลายเป็นความใฝ่ฝันของบุคลากรสายวิทย์ทั่วประเทศที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสถานศึกษาแห่งนี้ ไม่ว่าจะในฐานะนิสิตหรือคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
VISTEC เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่มีความโดดเด่น เนื่องจากทุกองค์ประกอบล้วนถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสนับสนุนและสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมแทบทั้งสิ้น ไล่เรียงตั้งแต่พื้นที่ตั้งในอาณาบริเวณกว่า 3 พันไร่ของ “วังจันทร์วัลเลย์” ต.ป่ายุบใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งรายล้อมไปด้วยธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ การมอบทุนการศึกษาแบบไม่มีข้อผูกมัดให้กับนิสิตพร้อมได้รับค่าใช้จ่ายรายเดือน ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนก็ล้วนมีคุณวุฒิที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ มีอุปกรณ์และห้องแล็บที่ล้ำสมัย รองรับการวิจัยยุคใหม่ รวมไปถึงในด้านสถานที่ซึ่งตั้งอยู่ใน “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EECi ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้บุคลากรกับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจสามารถเชื่อมต่อกันเพื่อร่วมมือในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้การเรียนการสอนในระดับปริญาโท - ปริญาเอก หลักสูตรภาษาอังกฤษ ใน 4 สำนักวิชา ได้แก่
- สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล (MSE)
- สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน (ESE)
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล (BSE) ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดย ธนาคารกสิกรไทย
- สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IST) ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดย ธนาคารไทยพาณิชย์
โดยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์งานวิจัยชั้นสูงที่สามารถก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตอบโจทย์การพัฒนาและผลิตผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นนักวิจัย รวมถึงนัวตกร ที่จะสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืนให้กับประเทศต่อไป
ผลจากการพัฒนาอย่างเป็นระบบของ VISTEC แม้จะผ่านมาเพียงแค่ 5 ปี นับตั้งแต่เปิดดำเนินการ ผลงานจากนักวิจัยของที่นี่ ก็เริ่มเป็นที่เด่นชัดในวงการวิทยาศาสตร์ไทยและระดับโลกมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งที่ผ่านมามีนิสิตของ VISTEC ได้ไปทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัย Oxford, มหาวิทยาลัยด้านเทคนิค Munich, มหาวิทยาลัย Bordeaux และ มหาวิทยาลัย Kyoto ฯลฯ รวมทั้งการผลิตผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับสากลหลายฉบับ โดยในปีนี้ Nature Index Ranking 2020 ได้จัดอันดับให้ VISTEC ก้าวขึ้นสู่ “อันดับที่ 1” มหาวิทยาลัยของประเทศไทย ที่มีผลงานวิจัย “ชั้นเลิศ” ในทุกสาขาวิชาด้าน Natural Sciences และเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน (อันดับที่ 1-3 เป็นของมหาวิทยาลัยจากประเทศสิงคโปร์) รวมถึงการครอง “อันดับที่ 1 ของประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน” ในสาขาวิชา Chemistry
และล่าสุดกับเวทีรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 38 โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ กับความสำเร็จของ ดร.พิชญ พัฒนสัตยวงศ์ อาจารย์สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล ในการคว้ารางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จากผลงานวิจัย “วัสดุไฮบริดเพื่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่” ก็นับว่าเป็นก้าวที่สำคัญอีกครั้งของ VISTEC
โดยผลงานวิจัยนี้เป็นการพัฒนาสารกึ่งตัวนำชนิดใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน สารดังกล่าวสามารถปรับเปลี่ยนส่วนประกอบและโครงสร้างได้หลากหลายเพื่อทำการควบคุมคุณสมบัติด้านอิเล็กทรอนิกส์ การตอบสนองต่อแสง หรือการทำปฏิกิริยาเคมี สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างกว้างขวาง เช่น สร้างเป็นทรานซิสเตอร์ชนิดฟิล์มบางสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ใช้เป็นส่วนประกอบในโซลาร์เซลล์หรือไดโอดเปล่งแสง ใช้ในกระบวนการผลิตสารเคมีด้วยพลังงานแสงอาทิตย์หรือไฟฟ้า หรือใช้เป็นเซนเซอร์ในอุปกรณ์ต่างๆ ก็ได้เช่นกัน
จากผลงานดังกล่าว เป็นเครื่องยืนยันได้อย่างดีว่าฝีมือของบุคลากรวิทยาศาสตร์ชาวไทยมีความสามารถที่จะก้าวไปสู่การแข่งขันในเวทีโลก พร้อมยกระดับประเทศไปสู่อีกขั้นในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งแรงผลักดันจากเบื้องหลังนับเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้การเติบโตนี้สามารถไปต่อได้อย่างก้าวกระโดด
ดังเช่นพันธกิจของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่มิได้มุ่งหวังเพียงแต่การสร้างบัณฑิตผู้จบการศึกษา หากแต่เป็นการสร้างผลงานทางวิชาการและนวัตกรรมให้เป็นที่ยอมรับและนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม อันจะส่งผลสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลกต่อไป
อ่านเพิ่มเติม...
September 01, 2020 at 06:01AM
https://ift.tt/3gMTMiv
ประเทศไทยในเวทีผู้ผลิตนวัตกรรมโลก... ฝันไกล ที่เราพร้อมจะไปให้ถึง - ไทยรัฐ
https://ift.tt/2wcicAM
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ประเทศไทยในเวทีผู้ผลิตนวัตกรรมโลก... ฝันไกล ที่เราพร้อมจะไปให้ถึง - ไทยรัฐ"
Post a Comment